วิชาปรัชญาและศาสนา ตั้งแต่เริ่มแรก เมื่อคณะมนุษยศาสตร์ เริ่มดำเนินการตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2507 ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนเป็นรายวิชา ในหลักสูตรของคณะมนุษยศาสตร์
ปี พ.ศ. 2519 จัดอยู่ในกลุ่มสาขาวิชามนุษยสัมพันธ์ วิชาเอกปรัชญา
ปี พ.ศ. 2533 ได้รับการจัดตั้งเป็น “ภาควิชาปรัชญาและศาสนา”
ปี พ.ศ. 2551 ลดสถานะจาก “ภาควิชา” เป็น “สาขาวิชา” สังกัดภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ตามแนวทางการบริหารจัดการโครงสร้างการบริหารองค์กรตามประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง ภาระงานของภาควิชาฯและหัวหน้าภาควิชาฯ ที่พึงประสงค์และแนวทางการบริหารจัดการในภาควิชาฯ
ปี พ.ศ. 2557 ได้รับสถานะกลับเป็น ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ดังเดิม
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา มุ่งสร้างองค์ความรู้ทางปรัชญาที่ลุ่มลึก สามารถวิเคราะห์ วิจารณ์ และอธิบายปัญหาและปรากฎการณ์ต่างๆ ได้อย่างสมเหตุสมผลและมีระบบ รู้จักตนเอง เข้าใจสังคม กอปรด้วยวิสัยทัศน์ที่ก่อให้เกิดความรู้อย่างถ่องแท้ มีคุณธรรม เห็นคุณค่าของการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ภาควิชาปรัชญาและศาสนาได้จัดแผนการศึกษาเพื่อให้นักศึกษาวิชาเอกปรัชญาระดับปริญญาตรีซึ่งมีระยะเวลาศึกษาตามหลักสูตร 4 ปี ได้มีโอกาสศึกษาวิชาต่าง ๆ ให้เกิดความรู้ทั้งในมิติที่กว้างและลึก โดยกำหนดกระบวนวิชาต่าง ๆ ที่ต้องศึกษาตลอดหลักสูตรออกเป็น 2 หมวด คือ
1. หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ประกอบด้วยกระบวนวิชาต่าง ๆ ในคณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิจิตรศิลป์ วิชาเหล่านี้จะทำให้ผู้ศึกษาเกิดความรู้ความเข้าใจในมิติกว้าง อันจะก่อให้เกิดองค์ความรู้เชิงบูรณาการ
2. หมวดวิชาเฉพาะ เป็นหมวดวิชาที่ประกอบด้วย 3 กลุ่มวิชา คือ
-กลุ่มวิชาแกน เป็นวิชาที่จะเป็นรากฐานให้เกิดความรู้เชิงวิเคราะห์ และสังเคราะห์ เพื่อความลุ่มลึกในวิชาเอก
-กลุ่มวิชาเอก เป็นวิชาที่จะเสริมสร้างทักษะ และความสามารถในการขบคิดวิเคราะห์ วิจารณ์ และประเมินค่าสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบ
-กลุ่มวิชาโท เป็นกลุ่มวิชาที่นักศึกษาแต่ละคนมีอิสระที่จะเลือกศึกษาวิชาเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งนอกจากวิชาปรัชญาเพื่อขยายโอกาสในการประกอบอาชีพและเพื่อขยายความรู้เฉพาะด้านที่ตนเองสนใจเป็นพิเศษ
หมวดวิชาเฉพาะนี้ นักศึกษาจะได้ศึกษาวิชาทางปรัชญาและวิชาที่เกี่ยวเนื่อง ในส่วนของวิชาทางปรัชญา ประกอบด้วยการศึกษาวิเคราะห์ประวัติลัทธิปรัชญา ปัญหาและแนวทางคำตอบทางปรัชญาที่มีความสำคัญต่อความเป็นไปในสังคมปัจจุบัน ในปีสุดท้ายนักศึกษาเลือกทำการศึกษาระเบียบ วิธีวิจัย และลงมือค้นคว้าวิจัยเรื่องที่ตนสนใจ อันจะเป็นประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมพร้อมกับเขียนรายงานการวิจัย หรือเลือกศึกษาสหกิจศึกษา ในส่วนของวิชาที่เกี่ยวเนื่องจะเป็นการศึกษาในส่วนที่จะเสริมต่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ในระบบปรัชญาที่ต้องเกี่ยวโยงกับสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และอื่น ๆ
บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาทางปรัชญาจึงสามารถประกอบอาชีพได้กว้างขวาง เช่น การเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย พัฒนากร นักบริหารงานบุคคล นักประชาสัมพันธ์ นักเขียน นักสังคมสงเคราะห์ นักการเมือง นักการธนาคาร แอร์โฮสเตส ตลอดจนการประกอบอาชีพอิสระส่วนตัว บัณฑิตที่จบจากปรัชญาสามารถนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาเชิงทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับยุคสมัยและกับทุกสภาพการทำงาน นอกจากนั้น ยังสามารถอาศัยวิชาโทหรือวิชาเลือกเสรีที่ได้เลือกเรียนตามความถนัดและความสนใจของแต่ละบุคคลเป็นฐานของการประกอบอาชีพ
ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ตึก HB5 ชั้น 2 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
239 ถนนห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200
หมายเลขโทรศัพท์ : 053-943263 , 053-943280
หมายเลขโทรสาร : 053-942332
E-mail : philrecmu@gmail.com
Facebook : https://www.facebook.com/philrecmu