สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส



images

ข่าวกิจกรรม

โครงการเสนอผลงานทางวิชาการ นักศึกษา 4 ชั้นปี สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส
images

ข่าวกิจกรรม

รำเทิดพระเกียรติพระราชชายาเจ้าดารารัศมี 9 ธันวาคม 2562
images

ข่าวกิจกรรม

โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศส ครั้งที่ 4

ประวัติความเป็นมา

วิชาภาษาฝรั่งเศสเป็นวิชาหนึ่งที่เปิดสอนในคณะมนุษยศาสตร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศสคือ Rev. André Gomane บาดหลวงคาธอลิคชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นข้าราชการวิสามัญชาวต่างประเทศของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.จินตนา แสงโสมทรัพย์ และ อ.ดร.แน่งน้อย เพนธ์ 

โดยในปีแรกของการสถาปนามหาวิทยาลัยมีนักศึกษาสมัครเข้าเรียนในคณะมนุษยศาสตร์ทั้งหมด 75 คน ในจำนวนนี้สมัครเรียนภาษาฝรั่งเศสถึง 60 คน ทางคณะมนุษยศาสตร์จึงขอความช่วยเหลือไปยังรัฐบาลฝรั่งเศสผ่านทางสำนักวัฒนธรรมสถานทูตฝรั่งเศส

ทางสำนักวัฒนธรรมได้ให้ความช่วยเหลือต่างๆตามความประสงค์ของทางคณะมนุษยศาสตร์โดยทูตวัฒนธรรมฝรั่งเศส Monsieur Vinciguerra ได้เดินทางมาพบปะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2507 ตามคำเชิญของ ศ.ดร.มล.ตุ้ย ชุมสาย ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ พร้อมกับได้เข้าพบ ศ.ดร.บัวเรศ คำทอง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในขณะนั้น

สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศสได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลฝรั่งเศสทางวิชาการทุกด้านนับตั้งแต่นั้นมา เริ่มด้วยการส่ง Monsieur Michel BRUNEAU ผู้เชี่ยวชาญการสอนภาษาฝรั่งเศสคนแรกที่มีส่วนร่วมในการร่างหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (ภาษาฝรั่งเศส) ฉบับแรกจนเสร็จสมบูรณ์ และได้เปิดสอนวิชาเอกครั้งแรกในปี พ.ศ.2508 นอกจากความช่วยเหลือด้านผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศส รัฐบาลฝรั่งเศสยังให้ความช่วยเหลือทางด้านทุนการศึกษาในระดับปริญญาโท-เอก ทุนการอบรมดูงานระยะสั้นสำหรับอาจารย์และนักศึกษา รวมถึงอุปกรณ์การศึกษาเช่น ฟิล์มภาพนิ่ง แถบบันทึกเสียง และหนังสือประกอบการเรียนการสอน

แนะนำหน่วยงาน

สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส มีความมุ่งหมายที่จะผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 
         1. 
ภาษาและวัฒนธรรม เพื่อให้ใช้ภาษาได้ถูกต้องและคล่องแคล่ว ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพได้ อีกทั้งมีความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ชีวิตความเป็นอยู่และแนวความคิดของชาวฝรั่งเศส 
         2. 
ภาษาศาสตร์ เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างของภาษาฝรั่งเศสและสามารถนำความรู้ไปใช้ในการค้นคว้าวิจัยเปรียบเทียบภาษา และเพื่อศึกษาต่อขั้นสูง ในด้านนี้ต่อไป 
         3. 
วรรณคดี 
            - 
เพื่อให้มีความรู้เรื่องประวัติวรรณคดี ผลงานชิ้นสำคัญของนักเขียน ความคิดและปรัชญาของชนชาติฝรั่งเศสในแต่ละยุค 
            - 
เพื่อฝึกให้ผู้เรียนรู้จักการใช้เหตุผล มีความสามารถในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้ที่ได้เรียนไป 
            - 
เพื่อประโยชน์ในการศึกษาต่อในชั้นสูงต่อไป 
         4. 
การใช้ภาษาฝรั่งเศสเฉพาะด้าน เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาด้านต่าง ๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับงานอาชีพของผู้เรียนในอนาคต เช่น ด้านการแปล การเขียนจดหมายโต้ตอบ ภาษาฝรั่งเศสเกี่ยวกับการท่องเที่ยว และภาษาฝรั่งเศสเพื่อธุรกิจ

การเรียนการสอน

         1. การใช้ภาษา 
         2. 
ภาษาศาสตร์ เป็นการศึกษาโครงสร้างของภาษาฝรั่งเศส องค์ประกอบของภาษาอันประกอบด้วย ระบบเสียง หน่วยเสียง โครงสร้างประโยค หน่วยคำ การใช้หน่วยคำ ความหมายของคำ ฯลฯ การวิเคราะห์ประโยคลักษณะต่าง ๆ 
         3. 
วรรณคดี นักศึกษาจะมีโอกาสศึกษาวรรณคดีประเภทต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยกลางจนถึงศตวรรษที่ 20 เพื่อเป็นความรู้พื้นฐานในการศึกษาชั้นสูงต่อไป ซึ่งจะแยกออกเป็นวรรณคดีสมัยคลาสสิก สมัยศตวรรษที่ 18 สมัยศตวรรษที่ 19 และสมัยศตวรรษที่ 20 ควบคู่ไปกับ
            3.1 
การศึกษาชีวประวัติของนักประพันธ์ 
            3.2 
เนื้อหาวรรณกรรม 
            3.3 
การตีความในแง่ปรัชญาและแนวความคิดของนักเขียน 
            3.4 
การศึกษาในเชิงสังคม ประวัติศาสตร์ 
            3.5 
การวิเคราะห์วรรณคดี: เทคนิคการประพันธ์ 
            3.6 
การสัมมนาวรรณกรรม 
         4. 
อารยธรรมและสังคม ศึกษาทางด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของประเทศฝรั่งเศส ตลอดจนความเป็นอยู่ อาชีพ ชีวิตประจำวันของชาวฝรั่งเศสในแต่ละท้องถิ่น ทั้งนี้รวมทั้งการเรียนรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเมืองและแนวความคิดของชาวฝรั่งเศสด้วย 
         5. 
ภาษาฝรั่งเศสเฉพาะด้าน ปัจจุบันนี้แนวทางใหม่ในการเรียนการสอนภาษามีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลง โดยเป็นไปในรูปแบบของการเรียนการสอนภาษาเพื่อจุดประสงค์เฉพาะด้าน เป็นการเรียนเพื่อใช้ช่วยในการประกอบอาชีพ ดังนั้นจึงได้เปิดสอนกระบวนวิชาภาษาฝรั่งเศสเพื่อ การท่องเที่ยว การโต้ตอบจดหมาย การติดต่อธุรกิจเป็นภาษาฝรั่งเศส และการแปล นอกจากนี้สาขาวิชาฯ ยังมีโครงการจะเปิดสอนภาษาฝรั่งเศสเฉพาะด้านสำหรับนักศึกษาสาขาอื่น เช่น กฎหมาย การบัญชี เกษตร เป็นต้น นักศึกษาผู้ประสงค์จะเลือกเรียนวิชาเอกภาษาฝรั่งเศส ควรจะต้องเป็นผู้ที่มีใจรักและความถนัดทางภาษาเป็นพิเศษ โดยจะต้องมีพื้นความรู้ภาษาฝรั่งเศสเบื้องต้นในระดับมัธยมศึกษามาอย่างดีพอสมควร

โอกาสในการทำงาน

          บัณฑิตที่เรียนจบจากสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส สามารถจะใช้ความรู้ที่เรียนมาเพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อในระดับสูง และเพื่อเสริมสร้างความคิดให้กว้างขวาง นอกจากนั้นภาษาฝรั่งเศสยังเป็นเครื่องมือประกอบอาชีพและเป็นภาษาที่ใช้แพร่หลายพอสมควร ในปัจจุบันบัณฑิตของสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส สามารถนำความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพได้อย่างกว้างขวาง เช่น ครู/อาจารย์ เลขานุการ มัคคุเทศก์ นักวิชาการศึกษา นักหนังสือพิมพ์ งานประชาสัมพันธ์ นักแปล - ล่าม พนักงานต้อนรับ พนักงานขาย หรืองานฝ่ายต่างประเทศในกระทรวง ทบวง กรม และบริษัทต่าง ๆ

ติดต่อ

สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
239 ถนนห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200 
หมายเลขโทรศัพท์ : 0-5394-3223 ถึง 4