ภาควิชามนุษยสัมพันธ์ (Department of Human Relations) เริ่มเปิดสอนเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2507 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมสาขาวิชาต่างๆ ที่จะสอนให้นักศึกษารู้จักความเป็นมนุษย์ และการทำให้มนุษย์มีคุณภาพดีขึ้น ในระยะแรกมีการจัดการเรียนการสอนในแขนงวิชาต่าง ๆ ดังนี้
1.1 สาขาวิชาศิลปะ (Division of Art)
1.2 สาขาวิชาบ้านและชุมชน (Division of Home and Community)
1.3 สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน (Division of Mass Communication)
1.4 สาขาวิชาจิตวิทยา (Division of Psychology)
1.5 สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์ (Division of Library Science)
1.6 สาขาวิชาพัฒนาขุมกำลังมนุษย์ (Division of Human Resources Development)
1.7 สาขาวิชาปรัชญา (Division of Philosophy)
1.8 สาขาวิชาศาสนา (Division of Religion)
ต่อมาได้ยุบสาขาวิชาพัฒนาขุมกำลังมนุษย์ และได้เปิดเพิ่มอีก 1 สาขา คือ สาขาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และในภายหลังสาขาวิชาต่างๆ ในสังกัดภาควิชามนุษยศาสตร์ ได้รับอนุมัติจากสภาการศึกษาแห่งชาติให้แยกตัวออก และยกฐานะเป็นภาควิชา ดังนี้
พ.ศ. 2511 ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์
พ.ศ. 2512 ภาควิชาการสื่อสารมวลชน และภาควิชาจิตวิทยา
พ.ศ. 2526 สาขาวิชาศิลปะได้ย้ายไปอยู่คณะวิจิตรศิลป์
พ.ศ. 2532 ภาควิชาปรัชญาและศาสนา
พ.ศ. 2532 ภาควิชามนุษยสัมพันธ์ จึงเปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาบ้านและชุมชน และสาขาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (ภายหลังเปลี่ยนเป็นสาขาวิชาการท่องเที่ยว)
พ.ศ. 2555 ภาควิชามนุษยสัมพันธ์ ได้เปลี่ยนเป็นชื่อ ภาควิชามนุษยศาสตร์ โดยรวมสาขาวิชาต่างๆ เข้ามาดำเนินการภายใต้ภาควิชามนุษยศาสตร์ ได้แก่ จิตวิทยา ประวัติศาสตร์ ปรัชญาและศาสนา สารสนเทศศึกษา การท่องเที่ยว บ้านและชุมชน
และในปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา ได้เปลี่ยนชื่อจากภาควิชามนุษยศาสตร์ เป็น ภาควิชามนุษยสัมพันธ์ มีภารกิจดูแลหลักสูตรของสาขาวิชาบ้านและชุมชนเพียง 1 หลักสูตรเท่านั้น
ปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาบ้านและชุมชน เป็นการจัดการเรียนการสอนที่มีเนื้อหาเน้นด้านคหกรรมศาสตร์ โดยมีเนื้อหาการพัฒนาชุมชนเข้าเสริม ทั้งนี้เพื่อมุ่งหมายที่จะเพิ่มคุณภาพของการเป็นมนุษย์ ในฐานะเป็นสมาชิกของครอบครัว เพื่อยกสถานภาพของครอบครัวให้สูงขึ้น ให้บ้านเป็นที่น่าอยู่อาศัยมากขึ้น และเมื่อคนดี ครอบครัวดี ชุมชนก็ต้องดีขึ้นด้วย
ภาควิชามนุษยสัมพันธ์ เปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาบ้านและชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนาและเสริมสร้างบัณฑิตให้มีความรู้เชิงวิชาการและการสร้างสรรค์ เพื่อมีศักยภาพในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และสามารถพัฒนาศักยภาพทางด้านการจัดการและการพัฒนาทรัพยากรชุมชน ด้านศิลปะสัมพันธ์ และด้านอาหารและโภชนาการ ที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ บนพื้นฐานของคุณธรรมและจริยธรรม อันจะนำไปสู่การเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีพ และเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของประเทศ
การเรียนการสอนมุ่งเน้นเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณลักษณะ หลากหลายประการ อาทิเช่น เป็นบัณฑิตที่มีความรู้เชิงวิชาการมีทักษะในการปฏิบัติ สามารถประยุกต์ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคต มีประสบการณ์ด้านวิชาชีพและเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นบัณฑิตจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ในการปรับประยุกต์ใช้วิชาการในการทำงาน ตลอดจนดำเนินชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข รวมทั้งต้องมีความสามารถในการค้นคว้าความรู้ด้วยตนเอง ตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีความมั่นใจและมีจิตสำนึกที่ดีในสัมมาชีพ ดำเนินชีวิตบนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง อย่างมีคุณธรรม และจริยธรรม
หลักสูตรการเรียนการสอน สาขาวิชาบ้านและชุมชน ได้จัดแผนการศึกษาตลอดหลักสูตร 4 ปี (จำนวนไม่น้อยกว่า 137 หน่วยกิต) ให้นักศึกษาได้มีโอกาสศึกษากระบวนวิชาทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติใน 2 หมวดวิชาใหญ่คือ
1. หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ได้แก่ กลุ่มวิชาภาษาและการสื่อสาร กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และกลุ่มวิชาการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม เพื่อให้นักศึกษามีความรู้และทักษะในมิติที่กว้าง และสามารถบูรณาการกับศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ
2. หมวดวิชาเฉพาะ เป็นหมวดวิชาที่กำหนดให้นักศึกษาในหลักสูตรเรียนในกลุ่มวิชาแกน วิชาเอกและวิชาโท ซึ่งกลุ่มวิชาเอกนั้น มีกระบวนวิชาให้นักศึกษาเลือกตามความสนใจใน 3 กลุ่มวิชาได้แก่
- กลุ่มวิชาการจัดการและพัฒนาทรัพยากรชุมชน มีกระบวนวิชาด้านครอบครัว ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม
- กลุ่มวิชาศิลปสัมพันธ์ มีกระบวนวิชาด้านศิลปะและการออกแบบที่เกี่ยวกับงานคหกรรมศาสตร์ที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตสมัยใหม่ เช่น การออกแบบเสื้อผ้า อาหาร สถานที่ และการจัดงานพิเศษต่าง ๆ
- กลุ่มวิชาอาหารและโภชนาการ มีกระบวนวิชาด้าน การประกอบอาหาร การจัดการด้านอาหาร โภชนาการและสุขภาพ
ทั้งนี้นักศึกษาในแต่ละกลุ่มวิชามีแนวทางในการประกอบอาชีพได้หลากหลาย ทั้งในภาครัฐ และ เอกชน อาทิเช่น
กลุ่มงานด้านการพัฒนา นักวิชาการพัฒนา พัฒนากร นักพัฒนาศาสตร์ นักสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม นักวิชาการในองค์กรอิสระด้านเด็กและเยาวชน เป็นต้น
กลุ่มงานด้านศิลปะ นักออกแบบและจัดตกแต่งอาหาร นักออกแบบจัดอาหารงานเลี้ยง
นักออกแบบและผู้จัดเสื้อผ้า ทำงานด้านการจัดงานในโอกาสพิเศษ เป็นต้น
กลุ่มงานด้านอาหาร ผู้ช่วยเชฟ ผู้ประกอบการด้านอาหาร นักโภชนาการ นักกำหนดอาหาร ฝ่ายสื่อสารประชาสัมพันธ์ด้านอาหารและสุขภาพ เป็นต้น
นอกจากนี้หลักสูตรสาขาวิชาบ้านและชุมชน มุ่งเน้นให้นักศึกษามีทักษะปฏิบัติอย่างเข้มข้น จึงได้กำหนดให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติงานในชุมชน และในชั้นปีที่ 4 เรียนกระบวนวิชาสหกิจศึกษา เป็นระยะเวลา 1 ภาคการศึกษา
-อยู่ระหว่างดำเนินการ-
ภาควิชามนุษยสัมพันธ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
239 ถนนห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200
หมายเลขโทรศัพท์ : 053-943259
หมายเลขโทรสาร : 053-942330
E-mail : hccmunetwork@gmail.com