ภาควิชาจิตวิทยา

ประวัติภาควิชาจิตวิทยา

การจัดการเรียนการสอนสาขาวิชา จิตวิทยา มีประวัติความเป็นมาพร้อมกับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในช่วงเริ่มมีการวางแผนและแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2506 นั้น บูรพาจารย์คนสำคัญของการสอนวิชาจิตวิทยาในประเทศไทย คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย (Ph.D. Psychology, University of Michigan at Ann Arbor) ได้รับการทาบทามจากกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเข้าร่วมวางแผนแบบของมหาวิทยาลัยและการบริหารงานเช่น การจัดตั้งภาควิชาในแต่ละคณะ การร่างหลักสูตร และการวางแผนกระบวนวิชาเรียน ในขณะนั้นสภาวะของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาคแห่งแรกในประเทศไทย มีเสรีภาพเชิงวิชาการอย่างมาก (ตุ้ย ชุมสาย, 2532) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย ได้รับมอบหมายให้เป็นกำลังหลักในการวางโครงสร้างคณะมนุษยศาสตร์และรับผิดชอบเป็นคณบดี โดยริเริ่มการสอนในสาขาวิชาที่เป็นตัวการที่ทำให้คุณภาพของความเป็นมนุษย์สูงขึ้น


สาขาวิชาจิตวิทยา เป็นวิชาเอกหนึ่ง ที่เริ่มมีการสอนในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2507 และถูกจัดอยู่ภายใต้การบริหารของภาควิชามนุษยสัมพันธ์ ซึ่งเป็นภาควิชาที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย ให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะเป็นแหล่งที่รวบรวมสาขาวิชาต่าง ๆ ที่อยู่ในแนวการพัฒนาคณะมนุษยศาสตร์ของท่าน การผลิตบัณฑิตสาขาวิชาจิตวิทยาในระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงนับเป็นสถาบันแห่งแรกในประเทศไทยที่มีการจัดการเรียนการสอนอย่างสมบูรณ์แบบ ภายหลังเมื่อการบริหารงานของคณะมนุษยศาสตร์มีการเติบโตขึ้น สาขาวิชาจิตวิทยาจึงถูกจัดตั้งเป็นภาควิชาจิตวิทยาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2512 จากสภาการศึกษาแห่งชาติ นับว่าเป็นภาควิชาแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรจิตวิทยาในระดับปริญญาตรี (พิสมัย วิบูลย์สวัสดิ์, 2552) 


ในช่วงเริ่มต้นการสอนวิชาจิตวิทยามีคณาจารย์รุ่นบุกเบิกได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุข เดชชัย (หัวหน้าภาควิชาคนที่ 2) รองศาสตาจารย์ ดร.จิรวัฒน์ วงศ์สวัสดิวัฒน์ (หัวหน้าภาควิชาคนต่อมา) และอาจารย์ ดร.อำนวย ทะพิงค์แก ทั้งนี้ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย ได้ติดต่อมูลนิธิฟูลไบรท์ (Fullbright) เพื่อขอศาสตราจารย์ฟูลไบรท์มาช่วยสอนบัณฑิตรุ่นแรก ๆ ของสาขาจิตวิทยา ทำให้รากฐานของการเรียนการสอนสาขาจิตวิทยาในสมัยนั้นนับว่ามีความทันสมัยในระดับสากล


สำหรับการสอนในหลักสูตรปริญญาตรีรุ่นแรก ปี พ.ศ. 2507 เน้นการสอนวิชาจิตวิทยาพื้นฐาน และวิชาเอกทางด้านจิตวิทยาคลินิก เนื่องจากในสมัยนั้นประเทศไทยมีความต้องการบัณฑิตทางจิตวิทยาคลินิกมาช่วยงานด้านจิตเวชและสุขภาพจิต อย่างไรก็ตามสาขาจิตวิทยาคลินิกเป็นสาขาใหม่และยังไม่มีที่ใดเปิดสอนมาก่อนในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องอาศัยอาจารย์พิเศษในการพัฒนาหลักสูตร (จิรวัฒน์ วงศ์สวัสดิวัฒน์, 2560) ดังนี้


คณาจารย์จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมาช่วยสอนในทุนมูลนิธิฟูลไบรท์ (Fullbright Professor) จำนวน 3 ท่านซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านจิตวิทยาคลินิก แต่ละท่านจะสับเปลี่ยนกันมาสอนประจำท่านละ 1 ปี ซึ่งคณาจารย์ทั้งสามท่านได้แก่ (1) Professor Dr. Lee J. Silverthorn (2) Professor Dr. Ralph A. Meyering และ (3) Professor Dr. Julian Wohl ซึ่งอาจารย์ทั้งสามท่าน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย เป็นผู้ดำเนินการขอจากมูลนิธิฟูลไบรท์


อาจารย์พิเศษจากกรุงเทพมหานครได้แก่ อาจารย์สมทรง สุวรรณเลิศ ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงผู้เดียวที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านจิตวิทยาคลินิก ส่วนอาจารย์พิเศษท่านอื่น ๆ เป็นจิตแพทย์ได้แก่ (1) ศาตราจารย์ นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว (2) ศาตราจารย์ นายแพทย์จิระ สิตะสุวรรณ (3) ศาตราจารย์ นายแพทย์ประสพ รัตนากร (4) อาจารย์นายแพทย์อารีย์ แสงสว่างวัฒนะ (5) อาจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ หริณสุต (6) อาจารย์นายแพทย์อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม และ (7) อาจารย์นายแพทย์ขนาน หัสศิริ เป็นต้น


คณาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา จะมีหน้าที่ในการสอนในสาขาจิตวิทยาพื้นฐานเช่น จิตวิทยาทั่วไป จิตวิทยาสังคม จิตวิทยาการทดลอง และวิชาพื้นฐานอื่น ๆ เช่น วิชาสถิติและระเบียบวิธีการวิจัย เป็นต้น


Professor Dr. Lee J. Silverthorn ได้ช่วยดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรจิตวิทยาคลินิกด้านเนื้อหาและกำหนดให้นักศึกษาได้มีโอกาสฝึกงานด้านจิตเวชและสุขภาพจิต จึงได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีและได้รับความช่วยเหลือจากศาสตราจารย์ นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว และอาจารย์สมทรง สุวรรณเลิศ ในการติดต่อนำนักศึกษาไปฝึกงานในโรงพยาบาลและสถาบันจิตเวช 5 แห่งได้แก่ ศูนย์สุขจิตวิทยาจิต โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา โรงพยาบาลศรีธัญญา โรงพยาบาลธัญญารักษ์ และโรงพยาบาลยุวประสาทไวทยโยปถัมภ์ ในปัจจุบันบัณฑิตสาขาวิชาจิตวิทยารุ่นแรก ๆ ของภาควิชาจิตวิทยาจึงเป็นกำลังสำคัญของการทำงานด้านสุขภาพจิตของประเทศไทย


หลังจากเปิดการสอนด้านจิตวิทยาคลินิกมาระยะหนึ่ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย ได้เล็งเห็นความสำคัญของการประยุกต์ใช้จิตวิทยาในองค์การของรัฐและเอกชน สอดคล้องกับแนวโน้มพัฒนาการของจิตวิทยาประยุกต์ในประเทศสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และฝรั่งเศส ที่เริ่มให้ความสำคัญกับการใช้หลักการทางจิตวิทยาเพื่อพัฒนาพฤติกรรมการทำงานของบุคลากรในองค์การ จึงมีดำริในการพัฒนาหลักสูตรอีกสาขาหนึ่งของภาควิชาจิตวิทยาคือ จิตวิทยาบริการ (Service Psychology) ทั้งนี้ขั้นตอนการวางแผนและเตรียมการหลักสูตรเป็นไปอย่างมีระบบ โดยเริ่มจากการจัดสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับจิตวิทยาบริการที่คณะมนุษยศาสตร์ในปลายปี พ.ศ. 2510 โดยวิทยากรเป็นบุคคลที่เป็นผู้นำองค์การที่สำคัญ อาทิเช่น ศาสตราจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ศาสตราจารย์ ดร.ชุบ กาญจนปกรณ์ เป็นต้น การอภิปรายและระดมความคิดเกี่ยวกับจิตวิทยาประยุกต์ในการประชุมวิชาการครั้งสำคัญในภาคเหนือดังกล่าว ทำให้ภาควิชาจิตวิทยาได้แนวทางในการพัฒนาหลักสูตรจิตวิทยาบริการที่มุ่งเน้นการนำความรู้มาใช้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์การ ซึ่งในปี พ.ศ. 2510 นักศึกษาจิตวิทยาได้รับโอกาสในการเรียนสาขาวิชาใหม่นี้ โดยถือว่าเป็นภาควิชาแรกของประเทศไทยที่ผลิตบัณฑิตจิตวิทยาบริการในระดับปริญญาตรี (พิสมัย วิบูลย์สวัสดิ์, 2552)


ในปี พ.ศ. 2515 ภาควิชาจิตวิทยาได้เปิดสอนสาขาจิตวิทยาโรงเรียนขึ้นเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรี โดยมีคณาจารย์ที่บุกเบิกสาขานี้ขึ้นมาอาทิเช่น ผศ.สุข เดชชัย และรศ.ดร. นพนธ์ สัมมา หลักสูตรนี้เน้นในด้านการให้คำปรึกษาและการวัดผลทางจิตวิทยาในการให้คำปรึกษา ซึ่งนักศึกษาจะต้องเข้าฝึกงานภาคปฏิบัติจริงในโรงเรียนอีกด้วย ในภายหลังปีพ.ศ. 2531 จึงได้เปิดการสอนในระดับปริญญาโทเพื่อสร้างบุคลากรทางจิตวิทยาโรงเรียนที่สามารถให้บริการการวัดเชิงจิตวิทยา การบริการป้องกันปัญหาในโรงเรียน การให้คำปรึกษา และให้การศึกษาทางจิตวิทยาแก่ชุมชน (นพนธ์ สัมมา และสุข เดชชัย, 2531)


ภายหลังภาควิชาจิตวิทยามีคณาจารย์ที่ได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำเพิ่มมากขึ้น ในช่วงปี พ.ศ. 2520 จึงได้มีการปรับปรุงหลักสูตรจิตวิทยาบริการ โดยอาจารย์ ดร.ณรงค์ศักดิ์ จันทร์นวลที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาจิตวิทยาสังคม จาก University of Hawaii at Manoa รับเป็นหัวหน้าโครงการและปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้มีความทันสมัยทัดเทียมกับการสอนในต่างประเทศ จึงได้เปลี่ยนเป็นสาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรม (Industrial Psychology) ซึ่งต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ (Industrial and Organizational Psychology) และเริ่มเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ปัจจุบันบัณฑิตและมหาบัณฑิตสาขาจิตวิทยาบริการและจิตวิทยาอุตสาหกรรมต่างมีตำแหน่งบริหารและเป็นผู้นำองค์การสำคัญในประเทศไทย


จากปณิธาน ความรัก และความพยายามของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย คณาจารย์ในอดีตและปัจจุบัน ได้วางรากฐานองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จิตวิทยาที่เป็นสากลและการประยุกต์ใช้จิตวิทยาในบริบทของสังคมไทย ทำให้ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความเจริญเติบโตงอกงาม มีความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างต่อเนื่องและเด่นชัดในแวดวงจิตวิทยา ภาควิชาจิตวิทยาจึงสามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพเพื่อเป็นผู้ให้และรับใช้สังคมไทย ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของคนไทยในบริบทที่หลากหลายตราบจนถึงปัจจุบัน


เรียบเรียงโดย ผศ.ดร.อิสระ บุญญะฤทธิ์


เอกสารอ้างอิง


จิรวัฒน์ วงศ์สวัสดิวัฒน์. (2560). การเปิดสอนจิตวิทยาคลินิกครั้งแรกในประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เอกสารวิชาการที่ยังไม่ได้เผยแพร่.


ตุ้ย ชุมสาย. (2332, สิงหาคม). คณะมนุษยศาสตร์: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต. คำบรรยายนำเสนอ ณ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, จังหวัดเชียงใหม่.


นพนธ์ สัมมนา, & สุข เดชชัย. (2531). บทบาทของนักจิตวิทยาโรงเรียนในประเทศไทย. เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.


พิสมัย วิบูลย์สวัสดิ์. (2552). ย้อนวันวาน สานอดีตจิตวิทยาใน 100 ปี ศาสตราจารย์ ดร.หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย.  ร้อยคิด พันคำนึง ถึงหม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย (pp. 48-53). เชียงใหม่: เอส.พี. พับลิชชิ่ง กรุ๊ป


- ไม่มีเอกสารประกอบ -