การจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาจิตวิทยามีประวัติความเป็นมาพร้อมกับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในช่วงเริ่มมีการวางแผนและแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2506 นั้น บูรพาจารย์คนสำคัญของการสอนวิชาจิตวิทยาในประเทศไทย คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย (Ph.D. Psychology, University of Michigan at Ann Arbor) ได้รับการทาบทามจากกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเข้าร่วมวางแผนแบบของมหาวิทยาลัยและการบริหารงานเช่น การจัดตั้งภาควิชาในแต่ละคณะ การร่างหลักสูตร และการวางแผนกระบวนวิชาเรียน ในขณะนั้นสภาวะของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาคแห่งแรกในประเทศไทย มีเสรีภาพเชิงวิชาการอย่างมาก (ตุ้ย ชุมสาย, 2532) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย ได้รับมอบหมายให้เป็นกำลังหลักในการวางโครงสร้างคณะมนุษยศาสตร์และรับผิดชอบเป็นคณบดี โดยริเริ่มการสอนในสาขาวิชาที่เป็นตัวการที่ทำให้คุณภาพของความเป็นมนุษย์สูงขึ้น
สาขาวิชาจิตวิทยาเป็นวิชาเอกหนึ่งที่เริ่มมีการสอนในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2507 และถูกจัดอยู่ภายใต้การบริหารของภาควิชามนุษยสัมพันธ์ ซึ่งเป็นภาควิชาที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย ให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะเป็นแหล่งที่รวบรวมสาขาวิชาต่าง ๆ ที่อยู่ในแนวการพัฒนาคณะมนุษยศาสตร์ของท่าน การผลิตบัณฑิตสาขาวิชาจิตวิทยาในระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงนับเป็นสถาบันแห่งแรกในประเทศไทยที่มีการจัดการเรียนการสอนอย่างสมบูรณ์แบบ ภายหลังเมื่อการบริหารงานของคณะมนุษยศาสตร์มีการเติบโตขึ้น สาขาวิชาจิตวิทยาจึงถูกจัดตั้งเป็นภาควิชาจิตวิทยาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2512 จากสภาการศึกษาแห่งชาติ นับว่าเป็นภาควิชาแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรจิตวิทยาในระดับปริญญาตรี (พิสมัย วิบูลย์สวัสดิ์, 2552) ในช่วงเริ่มต้นการสอนวิชาจิตวิทยามีคณาจารย์รุ่นบุกเบิกได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุข เดชชัย (หัวหน้าภาควิชาคนที่ 2) รองศาสตาจารย์ ดร.จิรวัฒน์ วงศ์สวัสดิวัฒน์ (หัวหน้าภาควิชาคนต่อมา) และอาจารย์ ดร.อำนวย ทะพิงค์แก ทั้งนี้ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย ได้ติดต่อมูลนิธิฟูลไบรท์ (Fullbright) เพื่อขอศาสตราจารย์ฟูลไบรท์มาช่วยสอนบัณฑิตรุ่นแรก ๆ ของสาขาจิตวิทยา ทำให้รากฐานของการเรียนการสอนสาขาจิตวิทยาในสมัยนั้นนับว่ามีความทันสมัยในระดับสากล
สำหรับการสอนในหลักสูตรปริญญาตรีรุ่นแรก ปี พ.ศ. 2507 เน้นการสอนวิชาจิตวิทยาพื้นฐาน และวิชาเอกทางด้านจิตวิทยาคลินิก เนื่องจากในสมัยนั้นประเทศไทยมีความต้องการบัณฑิตทางจิตวิทยาคลินิกมาช่วยงานด้านจิตเวชและสุขภาพจิต อย่างไรก็ตามสาขาจิตวิทยาคลินิกเป็นสาขาใหม่และยังไม่มีที่ใดเปิดสอนมาก่อนในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องอาศัยอาจารย์พิเศษในการพัฒนาหลักสูตร (จิรวัฒน์ วงศ์สวัสดิวัฒน์, 2560) ดังนี้
Professor Dr. Lee J. Silverthorn ได้ช่วยดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรจิตวิทยาคลินิกด้านเนื้อหาและกำหนดให้นักศึกษาได้มีโอกาสฝึกงานด้านจิตเวชและสุขภาพจิต จึงได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีและได้รับความช่วยเหลือจากศาสตราจารย์ นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว และอาจารย์สมทรง สุวรรณเลิศ ในการติดต่อนำนักศึกษาไปฝึกงานในโรงพยาบาลและสถาบันจิตเวช 5 แห่งได้แก่ ศูนย์สุขจิตวิทยาจิต โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา โรงพยาบาลศรีธัญญา โรงพยาบาลธัญญารักษ์ และโรงพยาบาลยุวประสาทไวทยโยปถัมภ์ ในปัจจุบันบัณฑิตสาขาวิชาจิตวิทยารุ่นแรก ๆ ของภาควิชาจิตวิทยาจึงเป็นกำลังสำคัญของการทำงานด้านสุขภาพจิตของประเทศไทย
หลังจากเปิดการสอนด้านจิตวิทยาคลินิกมาระยะหนึ่ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย ได้เล็งเห็นความสำคัญของการประยุกต์ใช้จิตวิทยาในองค์การของรัฐและเอกชน สอดคล้องกับแนวโน้มพัฒนาการของจิตวิทยาประยุกต์ในประเทศสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และฝรั่งเศส ที่เริ่มให้ความสำคัญกับการใช้หลักการทางจิตวิทยาเพื่อพัฒนาพฤติกรรมการทำงานของบุคลากรในองค์การ จึงมีดำริในการพัฒนาหลักสูตรอีกสาขาหนึ่งของภาควิชาจิตวิทยาคือ จิตวิทยาบริการ (Service Psychology) ทั้งนี้ขั้นตอนการวางแผนและเตรียมการหลักสูตรเป็นไปอย่างมีระบบ โดยเริ่มจากการจัดสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับจิตวิทยาบริการที่คณะมนุษยศาสตร์ในปลายปี พ.ศ. 2510 โดยวิทยากรเป็นบุคคลที่เป็นผู้นำองค์การที่สำคัญ อาทิเช่น ศาสตราจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ศาสตราจารย์ ดร.ชุบ กาญจนปกรณ์ เป็นต้น การอภิปรายและระดมความคิดเกี่ยวกับจิตวิทยาประยุกต์ในการประชุมวิชาการครั้งสำคัญในภาคเหนือดังกล่าว ทำให้ภาควิชาจิตวิทยาได้แนวทางในการพัฒนาหลักสูตรจิตวิทยาบริการที่มุ่งเน้นการนำความรู้มาใช้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์การ ซึ่งในปี พ.ศ. 2510 นักศึกษาจิตวิทยาได้รับโอกาสในการเรียนสาขาวิชาใหม่นี้ โดยถือว่าเป็นภาควิชาแรกของประเทศไทยที่ผลิตบัณฑิตจิตวิทยาบริการในระดับปริญญาตรี (พิสมัย วิบูลย์สวัสดิ์, 2552)
ในปี พ.ศ. 2515 ภาควิชาจิตวิทยาได้เปิดสอนสาขาจิตวิทยาโรงเรียนขึ้นเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรี โดยมีคณาจารย์ที่บุกเบิกสาขานี้ขึ้นมาอาทิเช่น ผศ.สุข เดชชัย และรศ.ดร. นพนธ์ สัมมา หลักสูตรนี้เน้นในด้านการให้คำปรึกษาและการวัดผลทางจิตวิทยาในการให้คำปรึกษา ซึ่งนักศึกษาจะต้องเข้าฝึกงานภาคปฏิบัติจริงในโรงเรียนอีกด้วย ในภายหลังปีพ.ศ. 2531 จึงได้เปิดการสอนในระดับปริญญาโทเพื่อสร้างบุคลากรทางจิตวิทยาโรงเรียนที่สามารถให้บริการการวัดเชิงจิตวิทยา การบริการป้องกันปัญหาในโรงเรียน การให้คำปรึกษา และให้การศึกษาทางจิตวิทยาแก่ชุมชน (นพนธ์ สัมมา และสุข เดชชัย, 2531)
ภายหลังภาควิชาจิตวิทยามีคณาจารย์ที่ได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำเพิ่มมากขึ้น ในช่วงปี พ.ศ. 2520 จึงได้มีการปรับปรุงหลักสูตรจิตวิทยาบริการ โดยอาจารย์ ดร.ณรงค์ศักดิ์ จันทร์นวลที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาจิตวิทยาสังคม จาก University of Hawaii at Manoa รับเป็นหัวหน้าโครงการและปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้มีความทันสมัยทัดเทียมกับการสอนในต่างประเทศ จึงได้เปลี่ยนเป็นสาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรม (Industrial Psychology) ซึ่งต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ (Industrial and Organizational Psychology) และเริ่มเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ปัจจุบันบัณฑิตและมหาบัณฑิตสาขาจิตวิทยาบริการและจิตวิทยาอุตสาหกรรมต่างมีตำแหน่งบริหารและเป็นผู้นำองค์การสำคัญในประเทศไทย
ปัจจุบันภาควิชาจิตวิทยาได้เปิดการสอนในระดับปริญญาตรี 2 สาขาได้แก่ จิตวิทยาคลินิก และจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ ส่วนระดับปริญญาโทได้เปิดทำการสอน 2 สาขาได้แก่ จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ และจิตวิทยาการปรึกษา นอกจากนี้ในอนาคตอันใกล้จะเปิดการสอนในสาขาจิตวิทยาคลินิกและสุขภาพ
จากปณิธาน ความรัก และความพยายามของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย คณาจารย์ในอดีตและปัจจุบัน ได้วางรากฐานองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จิตวิทยาที่เป็นสากลและการประยุกต์ใช้จิตวิทยาในบริบทของสังคมไทย ทำให้ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความเจริญเติบโตงอกงาม มีความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างต่อเนื่องและเด่นชัดในแวดวงจิตวิทยา ภาควิชาจิตวิทยาจึงสามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพเพื่อเป็นผู้ให้และรับใช้สังคมไทย ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของคนไทยในบริบทที่หลากหลายตราบจนถึงปัจจุบัน
เรียบเรียงโดย ผศ.ดร.อิสระ บุญญะฤทธิ์
เอกสารอ้างอิง
จิรวัฒน์ วงศ์สวัสดิวัฒน์. (2560). การเปิดสอนจิตวิทยาคลินิกครั้งแรกในประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เอกสารวิชาการที่ยังไม่ได้เผยแพร่.
ตุ้ย ชุมสาย. (2332, สิงหาคม). คณะมนุษยศาสตร์: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต. คำบรรยายนำเสนอ ณ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, จังหวัดเชียงใหม่.
นพนธ์ สัมมนา, & สุข เดชชัย. (2531). บทบาทของนักจิตวิทยาโรงเรียนในประเทศไทย. เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
พิสมัย วิบูลย์สวัสดิ์. (2552). ย้อนวันวาน สานอดีตจิตวิทยาใน 100 ปี ศาสตราจารย์ ดร.หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย. ร้อยคิด พันคำนึง ถึงหม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย (pp. 48-53). เชียงใหม่: เอส.พี. พับลิชชิ่ง กรุ๊ป
จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมและจิตใจมนุษย์ ทฤษฎีต่าง ๆ ทางจิตวิทยาจะช่วยเข้าใจการแสดงออก การกระทำ และอารมณ์ ตลอดจนทัศนคติและค่านิยมของกลุ่มบุคคลที่เราสนใจ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิต และการทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างเป็นสุข และมีประสิทธิภาพ
สาขาวิชาจิตวิทยาเปิดสอน 2 ระดับ คือ ระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท ประกอบด้วยสาขาวิชาดังต่อไปนี้
1. จิตวิทยาคลินิก (ระดับปริญญาตรี): เป็นจิตวิทยาสาขาหนึ่งที่มุ่งศึกษาเกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของพฤติกรรม บุคลิกภาพ ความบกพร่องทางสมองและระบบประสาท เพื่อทำความเข้าใจจิตใจ อารมณ์และพฤติกรรม ตลอดจนการช่วยเหลือ บำบัดแก้ไขปัญหาทางจิตวิทยาของบุคคล ครอบครัว และชุมชน รวมทั้งการส่งเสริมและป้องกันทางด้านสุขภาพจิต
นักจิตวิทยาคลินิกมีบทบาทและหน้าที่ดังนี้
-ตรวจวินิจฉัยทางจิตวิทยาคลินิก เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุ วินิจฉัยเพื่อแยกความผิดปกติ
-ให้คำปรึกษาแก่บุคคลทั่วไปเกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพจิต
-ให้การบำบัดรักษาแก่บุคคลที่มีปัญหาทางจิต/ผู้ป่วยติดสารเสพติด/เด็กและเยาวชนที่มีปัญหาความบกพร่อง
-ทำการวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพจิตและสร้างหรือปรับปรุงแบบทดสอบทางจิตวิทยาให้เหมาะสมกับสังคมไทย
-บริการชุมชนโดยประสานงานให้ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่มาขอรับบริการทางจิตวิทยาและสุขภาพจิต เช่น กระทรวงสาธารณสุข โรงเรียน มหาวิทยาลัย และศาล บริหารงานบุคคล เช่น เป็นหัวหน้างานต่าง ๆ ประยุกต์ความรู้ทางจิตวิทยาในการแก้ไข ปรับปรุง และส่งเสริมพฤติกรรมของบุคคลในองค์กร
2. จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ (ระดับปริญญาตรีและโท) : เป็นสาขาจิตวิทยาที่มุ่งศึกษาพฤติกรรมการทำงานของมนุษย์ในองค์การต่าง ๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม องค์กรธุรกิจ ต่าง ๆ เป็นต้น และนำความรู้เหล่านั้นไปประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์การช่วยทำให้งานน่าสนใจและน่าพึงพอใจมากขึ้น และเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ความสามารถและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ มีบทบาทและหน้าที่ดังนี้
-การจัดการงานบุคคลหรือทรัพยากรมนุษย์ เช่น การสรรหาและการคัดเลือกบุคลากร แรงงานสัมพันธ์ การวิเคราะห์งาน และการจัดทำคำบรรยายลักษณะงาน
-การฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร โดยการวิเคราะห์ความต้องการในการฝึกอบรม การวางแผนและดำเนินการฝึกอบรม การประเมินผลการฝึกอบรม ฯลฯ
-การทดสอบทางจิตวิทยา เช่น การทดสอบเพื่อการคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าทำงาน การประเมินผลการปฏิบัติงาน ทดสอบบุคลิกภาพ และความถนัด
-การศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภค อาทิเช่น การวิจัยเพื่อการวางแผนการตลาด
-การจัดการเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น ความปลอดภัยในการทำงาน
-การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและบุคลากรขององค์การ เช่น การสร้างแรงจูงใจและขวัญในการทำงาน
ผู้ที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโท สามารถทำงานในสถาบันต่าง ๆ ดังนี้
1. จิตวิทยาคลินิก สามารถทำงานในหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สถาบันสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (ประกอบด้วยศูนย์สุขภาพจิต โรงพยาบาลจิตเวช โรงพยาบาลประสาท โรงพยาบาลเด็กปัญญาอ่อน ฯลฯ) เวชศาสตร์การบิน โรงพยาบาลในสังกัดทหารเรือ ทหารบก ทหารอากาศ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมตำรวจ ศาล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลทั่วไปทั้งภาครัฐและเอกชน กระทรวงมหาดไทย กรมประชาสัมพันธ์ กรมประชาสงเคราะห์ รวมทั้งทำการวิจัยทางจิตวิทยาคลินิกหรือเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย ฯลฯ นอกจากนี้อาจทำงานในคลินิกส่วนตัวได้ หากได้รับใบประกอบโรคศิลปะ
2. จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นผู้บริหาร หรือทำงานเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาองค์การในด้านต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน เช่น โรงงานอุตสาหกรรม บริษัท ห้างร้าน สถาบันการเงิน และการประกอบอาชีพอิสระ โดยทำหน้าที่เกี่ยวกับการเป็นผู้นำการพัฒนาองค์การ การสรรหาและการคัดเลือกบุคลากร การฝึกอบรมและการพัฒนาบุคลากร การสร้างแบบวัดและการทดสอบทางจิตวิทยา การจูงใจและการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การส่งเสริมสุขภาพ ความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตในการทำงาน การส่งเสริมพฤติกรรมผู้บริโภค และการวิจัยเพื่อการพัฒนา เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถเป็นอาจารย์สอนในสาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ วิชาด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์และเป็นนักวิจัยในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้
ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
239 ถนนห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200
หมายเลขโทรศัพท์ : 053 943232 Ext. 100
หมายเลขโทรสาร : 053 943232 Ext.102
E-mail : psychocmu@gmail.com